วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการธนาคารข้าว


โครงการธนาคารข้าว
" ... โครงการที่ได้ปฏิบัติมาจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ได้ใช้ข้าวเป็นจำนวนมาก สำหรับส่งไปสงเคราะห์ในบริเวณชายแดน โดยอาศัยการส่งไปให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อที่จะได้แจกจ่ายแก่ผู้ที่ขาดแคลน นอกจากนี้ก็ได้ปฏิบัติอีกวิธีหนึ่ง คือนอกจากจะไปแจกแก่ผู้ที่ขาดแคลนคือ ได้ไปตั้งเป็นคลัง เป็นฉางข้าวในบางแห่ง คือ บางแห่งมีความขาดแคลนข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่แล้วก็มีความเดือดร้อน เพราะว่ามีการขาดน้ำ ทำให้ข้าวไม่ได้ผลเพียงพอจึงได้ให้ข้าวจำนวนหนึ่งแก่หมู่บ้านและตั้งเป็นฉางข้าว กล่าวคือ ให้ข้าวไว้และก็ถ้าต่อมาเขามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือปลูกข้าวได้ก็เอามาคืน โดยมีดอกเบี้ยเพิ่มเติมเข้ามา ข้าวที่ให้ไปจึงเป็นข้าวที่หมุนเวียนและทำให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าใจถึงการประหยัดถึงวิธีที่จะร่วมมือกัน มีชีวิตเป็นกลุ่ม ..." (พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์ดุสิตกรุงเทพ และบริษัทศรีกรุงวัฒนา จำกัด ณ พระตำหนักจิตรลดา 20 มิถุนายน 2511)

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวปีละประมาณ ๑๙ ล้านตัน เป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่รายหนึ่งของโลก นับเป็นประเทศที่มีธัญพืชและทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ยิ่งแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้คนในชนบทจำนวนมาก ภายหลังจาก ที่ได้เก็บเกี่ยวข้าวในนาของตนไปแล้ว กลับขาดแคลนข้าวที่จะบริโภค หรือใช้ทำพันธุ์ในฤดูเพาะปลูกครั้งต่อไป
การขาดแคลนข้าวของชาวนาในชนบทเป็นความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ครัวเรือนที่ยากจนมักแก้ไขปัญหา โดยวิธีกู้ยืมจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งอาจจะกู้ยืมเป็นข้าว หรือเป็นเงิน โดยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก เฉลี่ยแล้วราวร้อยละ ๓๐-๑๒๐ บาทต่อปี ในบางกรณีก็ต้องกู้ยืมโดยวิธีการขายข้าวเขียว ซึ่งเป็นผลให้ผู้กู้เสียเปรียบอย่างมาก ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค และการชำระหนี้ ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ที่มีหนี้สินพอกพูน ตกอยู่ในสภาพที่ยากจน ล้าหลัง ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นที่มาของปัญหาการพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไปอีก
การที่ประเทศเรามีธัญพืชมากพอที่จะเลี้ยงดูคนทั้งประเทศ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่มีข้าวพอกินเป็นสองภาพที่ขัดแย้งกันของชนบทไทย ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลาย

ประการประกอบกัน นับแต่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและน้ำ ประสิทธิภาพของการผลิต การควบคุมระบบตลาด กลไกราคา และภาวะการค้าต่างประเทศ แม้ว่า รัฐบาลจะกำหนดนโยบายและวางแผนที่จะแก้ไขปัญหาแหล่านี้ด้วยมาตรการต่าง ๆ จำนวนมาก แต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็เป็นเรื่องระยะยาวที่มองไม่เห็นผลในทันที

แนวพระราชดำริ เกี่ยวกับโครงการธนาคารข้าว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ สู่ภูมิภาคต่าง ๆ ในท้องถิ่นชนบทของประเทศอย่างสม่ำเสมอมานับสิบปี ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเห็นสภาพความยากจน เดือดร้อนและเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งแจ่มชัดถึงสาเหตุแห่งปัญหา พระองค์ทรงริเริ่มและพระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในระดับต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้ประชาชนพึ่งตนเอง ให้พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในบางเรื่องทรงเห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาวและในบางกรณีก็ทรงเห็นว่า จำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขความเดือนร้อนเฉพาะหน้าของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องข้าว ทรงพยายามทำทุกวิถีทางในเกษตรกรมีข้าวพอกินอาจกล่าวได้ว่า "ธนาคารข้าว" เป็นผลมาจากพระปรีชาดังกล่าว เป็นความพยายามด้านหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเป็นพะราชประสงค์โดยตรงที่จะให้ทางราชการไปช่วยเหลือในการจัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรที่ยากจนโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อรูป "ธนาคารข้าว" ขึ้น และทำให้ธนาคารข้าว

กลายเป็นแนวคิดที่แพร่หลาย เป็นนโยบายของรัฐและเป็นแผนงานสำคัญแผนหนึ่งของการพัฒนาชนบทยากจนที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารข้าว ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผากะเหรี่ยง ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นทุนเริ่มดำเนินกิจการธนาคารข้าว ได้พระราชทานแนวทางดำเนินงานไว้อย่างละเอียดชัดเจน ดังบันทึกดังต่อไปนี้
"ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษาพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคในยามจำเป็น ให้ลงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม สำหรับกรรมการควบคุมข้าวนั้น มีสิทธิในการขอยืมข้าวเท่ากับราษฎรทุกประการ ต้องอธิบายให้กรรมการและราษฎรเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ถึงหลักการของธนาคารข้าว โดยพยายามชี้แจงอย่างง่าย ๆ แต่ต้องให้แน่ใจว่า ทุกคนเข้าใจดี กรรมการและราษฎรก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อหลักการ เมื่อยืมข้าวจากธนาคารข้าว ซึ่งเป็นของส่วนรวมไปใช้ และถึงกำหนดเวลาที่สัญญาไว้ ก็ต้องนำข้าวมาคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากว่ามีเหตุสุดวิสัย ซึ่งต้องชี้แจ้งให้กรรมการพิจารณาข้อเท็จจริง ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวก็จะเป็นแหล่งที่รักษา ผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย"


สรุป
รัฐบาลโดยหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับสนองพระบรมราโชบาย ขยายขอบเขตการดำเนินงานธนาคารข้าวออกไปอย่างกว้างขวาง จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ มีธนาคารข้าวที่จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ มากกว่า ๔,๓๐๐ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ๕๗ จังหวัด จำนวนข้าวหมุนเวียนในธนาคารข้าวมากกว่า ๑๔.๕ ล้านกิโลกรัม หลักการดำเนินงานของธนาคารข้าว ปัจจุบันสามารถปรับใช้ได้กับสภาพปัญหาและความจำเป็นที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ เช่น ลักษณะการให้บริการ ซึ่งมีทั้งให้เปล่า ให้โดยแลกแรงงาน ให้ยืมหรือให้กู้สำหรับทุนดำเนินงานนั้น อาจหาทุนได้หลายวิธี เช่น การรับบริจาค การเรียกหุ้น ฯลฯ และในกรณีที่ไม่สามารถจัดตั้งกองทุน


ธนาคารข้าว เป็นโครงการในเชิงการให้สวัสดิการสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นการโอนรายได้ (Transfer income) จากคนรวยไปยังคนจนและเป็นการกระจายรายได้ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ราษฎรมีแหล่งข้าวกลางของหมู่บ้านที่สามารถกู้ยืมไปบริโภคหรือทำพันธุ์ โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าอัตราซึ่งต้องเสียให้แก่พ่อค้าคนกลางเป็นอันมาก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการอดอยากขาดแคลน ช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ และระดับรายได้ของเกษตรกรที่ยากจน เป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลและตรงจุดประการหนึ่ง
สิ่งที่ได้มานอกจากนั้น เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นผลโดยตรง แต่เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการสร้างพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสร้างความสมัครสมานสามัคคีของชุมชนในการ ที่จะเรียนรู้และดำเนินการแก้ไขปัญหาของตนซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงย้ำอยู่เสมอ ในเรื่องความเข้าใจของราษฎร ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และความรู้สึกมีส่วนร่วม พระองค์ทรงเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังได้ ธนาคารข้าวอาจทำหน้าที่เป็นโรงเรียนที่ดี ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวชี้ถึงประสิทธิภาพ และความเข้มแข็งของชุมชน นั้น ๆ ธนาคารข้าวที่ประสบความสำเร็จมิได้บรรลุเพียงจุดมุ่งหมายพื้นฐานในการบรรเทาการขาดแคลนข้าวเท่านั้น แต่ยังได้สร้างกิจกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพ สร้างการมีส่วนร่วมภาวะผู้นำ และความร่วมมือในระดับชุมชนอีกด้วย
กิจกรรมธนาคารข้าวในท้องที่หลายแห่งเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ของชาวบ้านที่ร่วมใจกันหาวิธีการนำข้าวมาเข้ากองทุน และในอีกหลายท้องที่ ผลประโยชน์ที่เพิ่มพูนขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมธนาคารข้าว ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันใน จุดเล็ก ๆ ที่พร้อมจะเติบโตต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น